SCBS

เรียน ลูกค้า บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด

เรื่อง ภาระภาษีสำหรับการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ้างอิง ประกาศสำนักงาน กลต. ที่ กลต.กธ.(ว) 27/2557 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับภาระภาษีสำหรับการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลว. 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

     บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด ขอเรียนแจ้งให้ลูกค้าทุกท่านทราบว่า กรณีลูกค้ามีการโอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะกรณีการโอนข้ามชื่อ ลูกค้ามีภาระภาษีสำหรับการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

     1. กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้โอน/ผู้ขายหุ้น ให้พิจารณาตามเกณฑ์เงินสด

         1.1 กรณีผู้โอน/ผู้ขายมีกำไร ผู้โอน/ผู้ขายจะต้องนำกำไรที่ได้รับ เสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผู้รับโอน/ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราก้าวหน้าตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของ เดือนถัดจากเดือนที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

         1.2 กรณีผู้โอน/ผู้ขายไม่ได้รับค่าตอบแทน ผู้โอน/ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจาก ไม่ได้รับเงินจากการทำธุรกรรม ดังนั้น ผู้รับโอน/ผู้ซื้อจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่เนื่องจากผู้รับโอน/ผู้ซื้อได้รับหุ้นมาโดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงถือว่าผู้รับโอนมีเงินได้เท่ากับราคาตลาดของหุ้นซึ่งต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี การโอนที่เกิดจาก การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา (เช่น พ่อแม่ให้ลูก) จากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ผู้รับโอนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

         1.3 ผู้โอน/ผู้ขายขาดทุน เนื่องจากผลประโยชน์ที่ผู้โอน/ผู้ขายได้รับไม่เกินกว่า ที่ลงทุน ผู้โอน/ผู้ขายและผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี และเมื่อผู้รับโอน/ผู้ซื้อนำหุ้นไปขายนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีกำไรเกิดขึ้น ผู้รับโอน/ผู้ซื้อก็จะต้องนำกำไรดังกล่าวไปเสียภาษีตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากผู้รับโอนนำหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

     2. กรณีนิติบุคคลเป็นผู้โอน/ผู้ขายหุ้น ให้พิจารณาตามเกณฑ์สิทธิ (มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร)

         2.1 ผู้โอน/ผู้ขายมีกำไร ผู้โอน/ผู้ขายจะต้องนำกำไรที่ได้รับเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัฎากร ส่วนผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

         2.2 ผู้โอน/ผู้ขายโอนหุ้นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ผู้โอน/ผู้ขายอาจถูกกรมสรรพากรประเมินภาษี หากไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี

         2.3 ผู้โอน/ผู้ขายขาดทุน ผู้โอน/ผู้ขายและผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี

     3. กรณีการโอนหุ้นในธุรกรรมอื่น

         3.1 การโอนหุ้นตามธุรกรรมให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) และธุรกรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาซื้อคืน (Repo) ผู้โอนและผู้รับโอนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 ตามลำดับ

         3.2 การโอนหุ้นในธุรกรรมอื่นที่ได้รับการยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ เช่น การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังต่อไปนี้

             (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 291 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

             (2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมด ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555

     จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ประมวลรัษฎากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป

                                                                                                 ขอแสดงความนับถือ

                                                                                                 บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด

หมายเหตุ : หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อ scbs_compliance@scb.co.th