13:51:33 PM
  หัวข้อข่าว : PTTEP :งบการเงินก่อนสอบทาน คำอธิบาย&วิเคราะห์ฝ่ายจัดการ ไตรมาส2ปี48

  
ที่ ปตท.สผ. 1.910/290/2548


        27 กรกฎาคม 2548


เรื่อง    งบการเงินฉบับก่อนสอบทาน คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับ
        ไตรมาสที่ 2 ปี 2548
เรียน    กรรมการและผู้จัดการ
        ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1. งบการเงิน และงบการเงินรวมฉบับก่อนสอบทาน ของบริษัท
              ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด  (มหาชน) สิ้นสุด ณ วันที่
              30 มิถุนายน 2548 และ 2547 จำนวน 1 ฉบับ และฉบับแปลเป็น
              ภาษาอังกฤษจำนวน 1 ฉบับ
           2. คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2548
 
       บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขอนำส่งงบการเงิน
ฉบับก่อนสอบทาน สำหรับ ไตรมาสที่ 2 ปี 2548 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ของบริษัทฯ และ
บริษัทย่อย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว โดยเห็นว่างบการเงินดังกล่าว เป็น
รายงานทางการเงินที่มีความถูกต้อง และเพียงพอต่อนักลงทุน และคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่าย
จัดการ สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2548 รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และ 2
 
       สำหรับผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น
14,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,187 ล้านบาท หรือร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2547
ซึ่งมีรายได้รวม 11,609 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 5,680 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 333 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม
5,347 ล้านบาท
 
        บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 5,480 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 8.39 บาท
เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2547 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 3,277 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 5.02 บาท

       สำหรับผลการดำเนินงานงวดหกเดือน ปี 2548 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น
28,323 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 11,391 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ  9,735 ล้านบาท คิดเป็น
กำไรสุทธิต่อหุ้น 14.90 บาท เมื่อเทียบกับงวดหกเดือน ปี 2547 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 6,655 ล้านบาท
หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 10.20 บาท
 
        สำหรับฐานะการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 มีสินทรัพย์รวม
ทั้งสิ้น 114,839 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 53,679 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 61,160 ล้านบาท

        จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ


        ขอแสดงความนับถือ
 
 
        มารุต มฤคทัต

        (นายมารุต มฤคทัต)
        กรรมการผู้จัดการใหญ่


ฝ่ายการเงิน
โทร. 0-2537-4512, 0-2537-4611


สิ่งที่ส่งมาด้วย

2.      คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2548

2.1     ผลการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2548

       ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกของปี 2548 ยังคงขยายตัวอยู่แม้ว่าจะมีปัจจัยลบต่างๆ
มากระทบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วง 6 เดือน
แรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 12.6 และ 7.7 ตามลำดับ ในส่วน
ของปริมาณการขายปิโตรเลียมในช่วง 6 เดือนปี 2548 ปตท.สผ. มียอดขายเฉลี่ยวันละ 140,850
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ต่ำกว่าเป้าหมายปริมาณการขายปี 2548 ที่ตั้งไว้เฉลี่ยวันละ 144,000
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงที่โครงการบงกชในระหว่างวันที่ 10-23 เมษายน
2548 เพื่อทำการติดตั้งหน่วย Sour Processing Platform ใหม่ เข้ากับหน่วยผลิตหลักเดิม
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. คาดว่าสามารถเร่งการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปริมาณ
การขายที่ตั้งไว้ในปี 2548
 
       สำหรับปัจจัยเสี่ยงและอิทธิพลหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ใน
ปี 2548 นั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบโดยตรงต่อ
เศรษฐกิจไทยแต่คงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลักของ
ปตท.สผ. เป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรมและปริมาณความต้องการก็สูงกว่าความสามารถใน
การผลิตในปัจจุบัน  ดังนั้นคงจะไม่กระทบต่อปริมาณการขายในปี 2548 ของ ปตท.สผ. ส่วนในปัจจัย
การก่อการร้ายที่มีการคุกคามในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกนั้นเป็นประเด็นที่ ปตท.สผ.จะต้องติดตาม
สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นการก่อการร้ายนี้จึงได้มี
มาตรการที่เข้มงวดในการดูแลทางด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตพนักงานและทรัพย์สิน
ของ ปตท.สผ. อยู่ตลอดเวลา
 
       ในส่วนของการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ในรอบไตรมาส 2 ปี 2548 สามารถสรุปเป็น
สาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
 
       ปตท.สผ. ได้จัดตั้งบริษัท ปตท.สผ. อิหร่าน จำกัด (PTTEP Iran Company Limited)
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยหุ้นสามัญ
จำนวน 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีบริษัท PTTEP Middle East จำกัด (บริษัทย่อย
ของ ปตท.สผ.) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อเตรียมร่วมลงทุนในโครงการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมที่
ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
 
       เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ซึ่งเป็น
บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิ (Farm-out Agreement) ในแปลงบี (Block B)
นอกชายฝั่ง ประเทศกัมพูชา กับบริษัท Resourceful Petroleum Limited (RPL) โดย ปตท.สผ.อ.
จะเป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วนร่วมทุนร้อยละ 40 และบริษัท RPL ถือสัดส่วนร่วมทุนร้อยละ 60 แปลงบี
มีพื้นที่ประมาณ 6,551 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างชายฝั่งประเทศกัมพูชา ประมาณ 250 กิโลเมตรและติด
กับพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาทางด้านทิศตะวันออก จากการประเมินด้านธรณีวิทยาเบื้องต้นคาดว่า
แปลงบีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ  โดย ปตท.สผ. มีแผนที่จะสำรวจวัดคลื่น
ไหวสะเทือนและขุดเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม ในช่วง 3 ปีแรกของการสำรวจ
 
       บริษัท  PTTEP Middle East จำกัด หรือ PTTEP ME ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.
เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) และถือสัดส่วนทั้งหมดในโครงการโอมาน44 ประเทศโอมาน ได้ลงนามใน
สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) จากแหล่งก๊าซชามส์ (Shams) ของโครงการ
โอมาน 44 กับรัฐบาลของรัฐสุลต่านโอมาน ในฐานะผู้ซื้อ ในวันที่ 27 เมษายน 2548  โดยอ้างถึง
สาระสำคัญหลักของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Head of Agreement, HOA) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์
2548  ซึ่ง PTTEP ME มีแผนที่จะเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติ ที่อัตราการผลิต 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ
คอนเดนเสท ที่อัตรา 3,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ถือว่าเป็นผลสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของ ปตท.สผ. ที่สามารถ
ขายก๊าซธรรมชาติให้แก่ประเทศในตะวันออกกลางได้เป็นครั้งแรก
 
       นอกจากนี้ PTTEP ME ได้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในโครงการโอมาน 44 จาก
รายงานผลของการขุดเจาะหลุมสำรวจ ชามส์-3 (Shams-3) และ มุนฮาเมียร์-1 (Munhamir-1)
โดยในหลุมสำรวจชามส์-3 (Shams-3)ได้ทำการเจาะถึงระดับความลึกสุดท้าย 3,400 เมตร
พบปิโตรเลียมในชั้นหินกักเก็บที่มีความหนารวมประมาณ 14 เมตร จากการทดสอบพบว่ามีอัตราการ
ไหลของก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์ฟุตและคอนเดนเสทวันละประมาณ 2,170 บาร์เรล
ส่วนในหลุมสำรวจมุนฮาเมียร์-1 (Munhamir-1) ได้ทำการเจาะถึงระดับความลึกสุดท้าย 2,845 เมตร
พบปิโตรเลียมในชั้นหินกักเก็บที่มีความหนารวม 17 เมตร จากการทดสอบพบว่ามีอัตราการไหลของ
น้ำมันดิบวันละประมาณ 2,367 บาร์เรลและก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 0.9 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทั้งนี้
จากการค้นพบก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทที่หลุมสำรวจชามส์-3 ดังกล่าว จะเป็นส่วนสนับสนุนใน
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซฯชามส์ (Shams) ของปตท.สผ. ในส่วนของหลุม
สำรวจมุนฮาเมียร์-1 ปตท.สผ. มีแผนที่จะทำการศึกษาและประเมินศักยภาพเพิ่มเติมเพื่อยืนยันปริมาณ
สำรองปิโตรเลียมและเตรียมการพัฒนาและผลิตต่อไป
 
       บริษัท ปตท.สผ. อิหร่าน จำกัด (PTTEP Iran Company Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ
ปตท.สผ. ได้มีการลงนามสัญญาเพื่อการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (Exploration and Development
Contract) กับ National Iranian Oil Company หรือ NIOC ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติประเทศ
สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2548 โดยบริษัทฯจะได้รับสิทธิเป็นผู้ดำเนินการ
(Operator) และถือสัดส่วนทั้งหมดในโครงการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม แปลงซาเวห์ (Saveh) ซึ่ง
เป็นแปลงสำรวจบนบกมีพื้นที่ประมาณ 13,500 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองเตหะรานไปทางทิศใต้
ประมาณ 200 กิโลเมตร โดย ปตท.สผ. มีสิทธิในการสำรวจและพัฒนาเป็นระยะเวลา 25 ปี การลงทุนใน
ประเทศอิหร่านนี้เป็นการขยายฐานการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลางที่สำคัญ เนื่องจากประเทศ
อิหร่านเป็นประเทศที่มีศักยภาพในเชิงปริมาณสำรองปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นผู้ผลิต
ปิโตรเลียมอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศโอเปก
 
       ตามที่บริษัท PTTEP Hoan Vu Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สผ.
ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการเวียดนาม 9-2 ในสัดส่วนร้อยละ 25 โดยผู้ร่วมทุนอื่นประกอบด้วย SOCO
Vietnam Limited และ Petrovietnam Exploration and Production Company ในสัดส่วน
ร้อยละ 25 และ 50 ตามลำดับนั้น  บริษัทฯได้เริ่มดำเนินการเจาะหลุมประเมินผลหลุมที่ 3 ในโครงสร้าง
คางือวัง (Ca Ngu Vang) หรือหลุม CNV-3X (ตั้งอยู่ในทะเลเวียดนามตะวันออก ห่างจากจังหวัดวังเตา
ประมาณ 140 กิโลเมตร) ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2548 โดยถึงระดับความลึกสุดท้ายที่ 6,123 เมตร
ซึ่งหลุม CNV-3X นี้ถูกจัดว่าเป็นหลุมที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศเวียดนาม จากผลการทดสอบขั้นสุดท้าย
ของหลุม CNV-3X พบปิโตรเลียมซึ่งมีอัตราการไหลสูงสุดที่วันละประมาณ 13,040 บาร์เรลเทียบเท่า
น้ำมันดิบ ประกอบด้วยน้ำมันดิบวันละประมาณ 9,010 บาร์เรลและก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 22.6
ล้านลูกบาศก์ฟุต  การค้นพบน้ำมันดิบนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการพิสูจน์ศักยภาพปิโตรเลียมของ
โครงการเวียดนาม 9-2
 
ตามที่ ปตท.สผ.อ. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. เป็นผู้ร่วมดำเนินการในโครงการพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-
มาเลเซีย แปลง B-17& C-19 และ B-17-01 กับบริษัท PC JDA Limited โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน
เท่ากันที่ร้อยละ 50 นั้น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand
Joint Authority) ปตท.สผ.อ. และบริษัท PC JDA Limited ในฐานะกลุ่มผู้ขาย ได้ลงนามในสัญญา
ซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) ของโครงการพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย
แปลง B-17 & C-19 และ B-17-01 กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ โดยคาดว่าจะ
สามารถเริ่ม อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ (Daily Contract Quantity) ที่ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ในกลางปี 2551 ทั้งนี้หากมีการค้นพบปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นในภายหลัง กลุ่มผู้ขายจะสามารถเพิ่ม
อัตราการผลิตได้ถึง 470 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยราคาขายก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคา
ขายก๊าซฯ ในแหล่งสำคัญๆในอ่าวไทย

       เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ปตท.สผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อหุ้น (Stock Purchase
Agreement) ระหว่างกลุ่มผู้ซื้อซึ่งประกอบด้วย บริษัท ปตท.สผ. ออฟชอร์ อินเวสเมนท์ จำกัด หรือ
PTTEPO ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ในอัตราส่วนร้อยละ 59.94 และบริษัท มิตซุย ออยล์
เอ็กซพลอเรชั่น จำกัดในอัตราสัดส่วนร้อยละ 40.06 กับกลุ่มผู้ขายหุ้นซึ่งประกอบด้วย บริษัท โปโก
โอเวอร์ซีส์ โพรดักชั่น บีวี (Pogo Overseas Production B.V.) และ บริษัท โปโก โพรดิวซิ่ง
(Pogo Producing Company) เพื่อจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของกลุ่มบริษัทโปโก ในประเทศไทย ซึ่งประกอบ
ด้วยหุ้นทั้งหมดในบริษัท ไทยโป จำกัด และหุ้นร้อยละ 46.34 ในบริษัท บี 8/32 พาร์ทเนอร์ จำกัด โดย
ตามข้อตกลง PTTEPO จะต้องชำระค่าซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 490 ล้านเหรียญ
สหรัฐฯ ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมในโครงการดังกล่าวคือ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ
บริษัท พลังโสภณสอง จำกัดได้สละสิทธิที่จะเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวก่อนบุคคลภายนอก (First Right of
Refusal) ตามสัญญาร่วมทุน (Joint Operating Agreement) ทั้งนี้กลุ่มผู้ซื้อจะดำเนินการเพื่อให้การ
เข้าซื้อหุ้นดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จหลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ซื้อได้ตกลงที่
จะขายหุ้นร้อยละ 10 ของสินทรัพย์ของกลุ่มโปโกที่ได้มาให้แก่ บริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ในราคา
ประมาณ 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่บริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ได้สละสิทธิที่จะเข้า
ซื้อหุ้นก่อนบุคคลภายนอก ดังนั้นในที่สุดแล้ว สัดส่วนการร่วมทุนของแปลง B8/32 และ 9A จะประกอบด้วย
บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้ดำเนินการ) ร้อยละ 51.66  PTTEPO ร้อยละ
25.0 (โดย PTTEPO จะต้องชำระค่าซื้อหุ้นเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด ร้อยละ 16.71 และ บริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ร้อยละ
6.63  ในส่วนของสัมปทานปิโตรเลียมแปลง B8/32 นั้นตั้งอยู่ในอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ
2,460 ตารางกิโลเมตรซึ่งประกอบด้วย แหล่งทานตะวัน (บริษัท ไทยโป จำกัด ถือสัดส่วนร้อยละ 46.34)
แหล่งเบญจมาศ แหล่งมะลิวัลย์ แหล่งจามจุรีและแหล่งชบา (บริษัทไทยโป จำกัด และ บริษัท บี8/32
พาร์ทเนอร์ จำกัด ถือสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 31.67) โดยปัจจุบันผลิตปิโตรเลียมประมาณวันละ 98,800
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ประกอบด้วยน้ำมันดิบประมาณวันละ 59,200 บาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ
ประมาณวันละ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต  และในส่วนของสัมปทานปิโตรเลียมแปลง 9A (บริษัท ไทยโป
จำกัด ถือสัดส่วนร้อยละ 46.34) นั้นก็ตั้งอยู่ในอ่าวไทยเช่นกัน โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 81 ตาราง
กิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าซื้อหุ้น
ดังกล่าวจะทำให้เกิดรายได้จากการขายปิโตรเลียมทันทีและจะทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์
แล้ว (Proved Reserves) ของ ปตท.สผ. เพิ่มขึ้นประมาณ 52 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

       ตามที่ บริษัท ปตท.สผ. สยามจำกัด หรือ ปตท.สผ.ส. (เป็นบริษัทในเครือของ ปตท.สผ.)
เป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วนทั้งหมดในโครงการนางนวล (แปลงสำรวจหมายเลข B6/27) ซึ่งตั้งอยู่ใน
อ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดชุมพร ประมาณ 25 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 1,306 ตารางกิโลเมตรนั้น
บริษัทฯได้เริ่มดำเนินการผลิตน้ำมันดิบจากโครงการนางนวลที่อัตราการผลิตเฉลี่ยวันละ 3,100 บาร์เรล
ในเดือนมิถุนายน 2548 จากหลุมผลิตจำนวน 1 หลุม  ทั้งนี้ในปี 2549 บริษัทฯ มีแผนที่จะเจาะหลุม
สำรวจและหลุมผลิตเพิ่มอีก 2 หลุม เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบ และเพิ่มอัตราการผลิตจากแหล่ง
ดังกล่าว  การผลิตน้ำมันดิบจากโครงการนางนวลนี้ ช่วยตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของ
ประเทศที่เพิ่มขึ้นและลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถ
ประหยัดการใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
 
       ตามที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในโครงการบงกชซึ่งอยู่ในอ่าวไทย เพื่อสำรวจ พัฒนา
และผลิตปิโตรเลียม ในสัดส่วนร้อยละ 44.4445 โดยผู้ร่วมทุนอื่นประกอบด้วย บริษัท โททาล อีแอนด์พี
ไทยแลนด์ และ บริษัท บีจี เอเชียแปซิฟิค พีทีอี จำกัด ตามสัดส่วนร้อยละ 33.3333 และ 22.2222
ตามลำดับนั้น ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2548 กลุ่มผู้ร่วมทุนในฐานะผู้ขาย ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ
แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 และสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพิ่ม (Side Agreement) กับ บริษัท ปตท. จำกัด
(มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการประกอบด้วย ประการแรก การขยายพื้นที่พัฒนา
ภายใต้สัญญาซื้อขายเดิม (พื้นที่ 1,586 ตารางกิโลเมตร) ให้ครอบคลุมพื้นที่ปัจจุบันของโครงการบงกช
ทั้งหมด (พื้นที่ 3,200 ตารางกิโลเมตร)  ประการที่สอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะซื้อก๊าซฯ
เพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 61 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุต) ในช่วงตั้งแต่
วันที่ 1 เมษายน 2548 ถึง วันที่ 1 ตุลาคม 2551  และประการที่สาม กลุ่มผู้ร่วมทุนจะชำระเงินล่วง
หน้าให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,000 ล้านบาท (โดยในสัดส่วนของ ปตท.สผ. คิดเป็นเงิน
ประมาณ 444 ล้านบาท) ณ วันที่ลงนามสัญญาดังกล่าว
 
        2.2      ผลการดำเนินงาน
 
2.2.1   ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบรายไตรมาส

ตารางสรุปผลการดำเนินงานรวม                  ไตรมาส 1  ไตรมาส 2  ไตรมาส 2
(หน่วย: ล้านบาทยกเว้นกำไรต่อหุ้นแสดงเป็นบาท)         2548      2548      2547
กำไรจากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่
  ส่วนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม                  3,882     4,939     3,288
  ส่วนงานท่อขนส่งก๊าซ                              793       923       641
  กลุ่มบริษัท                                     (421)     (382)     (652)
   รวม                                       4,254     5,480     3,277
กำไรต่อหุ้นปรับลด  จากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่      6.50      8.37      5.02
รายได้รวม  จากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่         13,528    14,796    11,609
 
        ไตรมาส 2 ปี 2548 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2547
 
       สำหรับผลการดำเนินงานก่อนสอบทาน (Unreviewed) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2548 ปตท.สผ.
และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสนี้ รวม 5,480 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 8.37
บาท มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2,203 ล้านบาทหรือร้อยละ 67 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับ
ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,277 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 5.02 บาท ปตท.สผ.
และบริษัทย่อย มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on shareholders' equity) สำหรับสำหรับ
ไตรมาสนี้ อยู่ที่ร้อยละ 32.93
 
       สำหรับไตรมาสนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,796 ล้านบาท เมื่อเทียบ
กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 11,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,187 ล้านบาทหรือร้อยละ 27 ซึ่งส่วน
ใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 2,995 ล้านบาทหรือร้อยละ 27 เนื่องจากราคาขาย
ผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 28.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อ
เปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 22.86 เหรียญสหรัฐ  และ
ปริมาณการขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 139,035 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับ
ปริมาณการขายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 133,101 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยยอดขายที่
เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการเยตากุนและโครงการ
ไพลิน และการขายน้ำมันดิบของโครงการเอส 1 และ โครงการ UNOCAL III
 
       ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นตามการลงทุนในเงินฝากประจำและตั๋วเงิน
คลัง (Treasury Bills) ที่เพิ่มขึ้น
 
       ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 5,680 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ
ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 5,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 333 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 6 ซึ่งส่วนใหญ่
เป็นผลสุทธิจาก
 
       (1) ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงของ
โครงการบงกช, โครงการเยตากุน และโครงการไพลิน
       (2)  ค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีรายการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่าย
ของหลุมแห้งในโครงการอัลจีเรีย 433a&416b และโครงการเยตากุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ 2D
Seismic ของโครงการพม่า M7&M9
       (3)  ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายบุคคลากรและรายการ
ตัดจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาซื้อขายก๊าซโครงการบงกช
       (4)  ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น
       (5)  ในไตรมาสนี้ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1 ล้าน
บาท ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 514 ล้านบาทเป็น
ผลจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ
 
       ปตท.สผ.และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ เพิ่มขึ้น 651 ล้านบาท ตามกำไรก่อนภาษี
ที่เพิ่มขึ้น
 
ไตรมาส 2 ปี 2548 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2548

       สำหรับผลการดำเนินงานก่อนสอบทาน (Unreviewed)  ในไตรมาสที่ 2 ปี 2548 ปตท.สผ.
และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสนี้ รวม 5,480 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 8.37
บาท มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,226 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสก่อน
จำนวน 4,254 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 6.50 บาท
 
สำหรับไตรมาสนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,796 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส
ก่อนจำนวน 13,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,268 ล้านบาทหรือร้อยละ 9 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขาย
ที่เพิ่มขึ้น 1,414 ล้านบาทเนื่องจากราคาขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 28.14 เหรียญสหรัฐต่อ
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสก่อนที่ 25.42 เหรียญ
สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ส่วนปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสนี้ลดลงเป็น 139,035
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายไตรมาสก่อนที่ 142,685 บาร์เรล
เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน  แต่มียอดขายเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายน้ำมันดิบของโครงการ
เอส 1 การขายก๊าซธรรมชาติของโครงการไพลิน และ การขายคอนเดนเสทของโครงการเยตากุน

       ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 5,680 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ
ไตรมาสก่อนจำนวน 5,712 ล้านบาท ลดลง 32 ล้านบาทหรือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นผลสุทธิจาก
 
       (1)      ในไตรมาสก่อนรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการขายเงินลงทุนในบริษัท New Links
ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท Medco
       (2)  ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น
       (3)  ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงโครงการบงกช
โครงการเยตากุน โครงการไพลินและโครงการเอส 1
       (4)  ค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีรายการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่าย
ของหลุมแห้งในโครงการอัลจีเรีย 433a &416b และโครงการเยตากุน
 
       ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 58 ล้านบาทตามผล
กำไรก่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น
 
2.2.2   ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบรายงวดหกเดือน
ตารางสรุปผลการดำเนินงานรวม  สำหรับงวดหกเดือน
(หน่วย: ล้านบาทยกเว้นกำไรต่อหุ้นแสดงเป็นบาท)       2548    2547
กำไรจากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่
  ส่วนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม                8,821   6,365
  ส่วนงานท่อขนส่งก๊าซ                          1,716   1,195
  กลุ่มบริษัท                                   (802)   (905)
   รวม                                     9,735   6,655
กำไรต่อหุ้นปรับลด  จากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่   14.86   10.19
รายได้รวม  จากการดำเนินงานที่ยังดำเนินอยู่       28,323  22,119
 
       สำหรับผลการดำเนินงานก่อนสอบทาน (Unreviewed)  งวดหกเดือนของ ปี 2548
ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 9,735 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 14.86 บาท มี
ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3,080 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับงวดหกเดือนของปีก่อน
จำนวน 6,655 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลด 10.19 บาท
 
       ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้สำหรับงวดหกเดือนของปีนี้รวมทั้งสิ้น 28,323 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับงวดหกเดือนของปีก่อนจำนวน 22,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,204 ล้านบาทหรือร้อยละ 28 ซึ่ง
ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 5,534 ล้านบาทเนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์สำหรับงวดหก
เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 26.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขาย
ผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับงวดหกเดือนของปีก่อนที่ 22.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ
ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์สำหรับงวดหกเดือนของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 140,850 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายงวดหกเดือนของปีก่อนที่ 131,144 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ต่อวัน  โดยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของ
โครงการเยตากุน โครงการไพลิน และโครงการ UNOCAL III  และการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการ
ยาดานา
 
       ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับงวดหกเดือนของปีนี้
จำนวน 178 ล้านบาท ในขณะที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับงวดหกเดือนของปีก่อนจำนวน
408 ล้านบาทเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ
 
        ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายสำหรับงวดหกเดือนของปีนี้รวมทั้งสิ้น 11,391 ล้าน
บาทเมื่อเทียบกับงวดหกเดือนของปีก่อนจำนวน 9,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,402 ล้านบาทหรือร้อยละ 14
ซึ่งเป็นผลสุทธิจาก
 
       (1) สำหรับงวดหกเดือนของปีนี้รับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการขายเงินลงทุนในบริษัท
New Links ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท Medco
       (2)  ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น
       (3)  ค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีรายการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่าย
ของหลุมแห้งในโครงการอัลจีเรีย 433a&416b และโครงการเยตากุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ 3D
Seismic และ 2D Seismic ของ โครงการ L53/43, L54/43, G4/43 และ อัลจีเรีย 433a&416b
        (4)  ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าซ่อมบำรุงของโครงการไพลินและ
โครงการบงกช
 
       สำหรับงวดหกเดือนของปีนี้ ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 1,730
ล้านบาทตามผลกำไรก่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น

2.3     ฐานะการเงิน

       สำหรับฐานะการเงินของปตท.สผ.และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ปตท.สผ.
และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 114,839 ล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีก่อนจำนวน 2,894 ล้านบาท ส่วน
ใหญ่เป็นผลสุทธิจาก (1) รายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมเพิ่มขึ้นจำนวน 7,995 ล้านบาท
อันเป็นผลจากกระแสเงินสดรับจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและจากการขายเงินลงทุนในบริษัท New
Links ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท Medco (2) การลงทุนเพิ่มในทรัพย์สินเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
เพิ่มขึ้นสุทธิ 3,154 ล้านบาท และ (3) เงินลงทุนซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสีย ลดลงจำนวน 9,319 ล้าน
บาท ตามรายการขายเงินลงทุนในบริษัท Medco ดังกล่าว
 
        สินทรัพย์หมุนเวียนของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548  ส่วนใหญ่
เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น ลูกหนี้บริษัทใหญ่และลูกหนี้การค้าในส่วน
ของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วย (1) สินทรัพย์เพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน
โครงการร่วมทุนซึ่งอยู่ภายใต้ บัญชีที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์  และ (2) เงินลงทุนในบริษัทร่วม ได้แก่
บริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัดและบริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้บัญชีเงินลงทุน
ซึ่งบันทึกโดยวิธีส่วนได้เสีย
 
        ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 53,679 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 1,167 ล้าน
บาท ส่วนใหญ่เป็นผลสุทธิจาก (1) การจ่ายชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2547 จำนวน 9,285 ล้านบาท
(2) ภาษีเงินได้ค้างจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามกำไรก่อนภาษีที่เพิ่มขึ้นจำนวน 6,331 ล้านบาท และ
(3) การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค้างจ่ายจำนวน 1,576 ล้านบาทเนื่องจากมีการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
ของโครงการอาทิตย์
 
       ตามที่บริษัทได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ
พนักงานของบริษัท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 จำนวน 2 ล้านหน่วย ที่ราคาการใช้สิทธิ 111 บาท และ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 จำนวน 2 ล้านหน่วย ที่ราคาการใช้สิทธิ 117 บาท และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม
2547 จำนวน 2.8 ล้านหน่วย ที่ราคาการใช้สิทธิ 183 บาท โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 มีผู้ใช้สิทธิ
ซื้อหุ้นสามัญดังกล่าวรวม 1.39 ล้านหุ้น ทำให้มียอดคงเหลือของใบสำคัญแสดงสิทธิฯ จำนวน 5.41
ล้านหน่วย
 
       ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 บริษัทได้ดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว
จำนวน 3,266.96 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นสามัญที่บริษัทออกและชำระเต็มมูลค่าแล้วจำนวน 653.39 ล้าน
หุ้น
 
       สำหรับไตรมาสที่สองสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2548 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกระแสเงินสด
สุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 11,787 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินสดรับจากการดำเนินงาน
ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุนสุทธิจำนวน 1,552 ล้านบาท จาก (1)
เงินสดรับจากการขายลงทุนในบริษัท New Links ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท Medco จำนวน 8,909 ล้าน
บาท  (2) เงินปันผลรับจากบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด จำนวน 73 ล้านบาท (3) รายการลงทุน
เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในโครงการอาทิตย์ โครงการบงกช และโครงการ
ไพลินจำนวน 7,019 ล้านบาทและ(4) การลงทุนในบริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ จำกัด จำนวน 400
ล้านบาท
 
       นอกจากนี้ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีใช้เงินสดสุทธิในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 5,873 ล้าน
บาท จาก (1) การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 9 บาท เป็นเงินจำนวน 5,880 ล้านบาท
(2) ได้รับเงินจากการออกหุ้นสามัญจำนวน 7 ล้านบาท
 
       ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548
จำนวน  31,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน จำนวน 7,995 ล้านบาท